ความเป็นมาของอุทยานธรณีวิทยา
กรมทรัพยากรธรณี เริ่มดำเนินงานด้านการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและการจัดตั้งอุทยานธรณีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 การอนุรักษ์แหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 สงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างบูรณาการ ที่ตอบสนองต่อการพัฒนา และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดยการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้จังหวัดสตูลจัดตั้งอุทยานธรณี โดยกรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินแหล่งธรณีวิทยาตามหลักเกณฑ์การประเมินแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา และผนวกแหล่งอนุรักษ์ธรณีวิทยา เข้ากับแหล่งทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดสตูล จนสามารถกำหนดขอบเขตอุทยานธรณีสตูลซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอมะนัง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และบางส่วนของอำเภอเมือง
จังหวัดสตูลได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมทรัพยากรธรณีในการจัดตั้งอุทยานธรณีตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยได้ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ และจัดทำแผนบริหารจัดการอุทยานธรณีสตูล ซึ่งจังหวัดสตูลได้กำหนดให้แผนการพัฒนาอุทยานธรณีสตูลอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดด้วย
อุทยานธรณีสตูลดำเนินกิจกรรมตามแผนบริหารจัดการอุทยานธรณีสตูลอาทิ การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาในพื้นที่ และการส่งเสริมชุมชนในด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงภาคเอกชนในท้องถิ่นซึ่งส่งผลให้อุทยานธรณีสตูลพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จนมีความต้องการยกระดับความสำคัญของอุทยานธรณีสตูลให้เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยได้ดำเนินการประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์การประเมินอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก พร้อมจัดทำเอกสารประกอบการสมัครเรียบร้อยแล้ว
ต่อมา จังหวัดสตูลได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งความจำนงในการสมัครเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติฯ (ยูเนสโก) ได้ดำเนินการส่งหนังสือแสดงความจำนงขอเสนออุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ไปยังยูเนสโกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ทั้งนี้ คณะกรรมการแห่งชาติฯ (ยูเนสโก) ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลว่า การเสนออุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 4 (7) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ก่อนจัดส่งให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเสนอใบสมัครไปยังยูเนสโก ดังนั้น จังหวัดสตูล จึงได้ขอความอนุเคราะห์ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอเรื่อง เสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะจัดส่งให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเสนอใบสมัครไปยังยูเนสโกต่อไป
การดำเนินงาน
กรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดทำหนังสือ ด่วนที่สุด เรื่อง การเสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (7) เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับรัฐบาลไทย เนื่องจากการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกอาจมีผลผูกพันกับรัฐบาลไทยในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการชำระเงินค่าสมาชิกประจำปี ค่าใช้จ่ายในการประเมินอุทยานธรณีสตูลในภาคสนาม และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลก จึงจำเป็นต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ ซึ่งเหตุผลที่ต้องเสนอเรื่องเป็นการเร่งด่วน เนื่องมาจากสำนักเลขาธิการยูเนสโก กำหนดให้อุทยานธรณีใดๆ ที่มีความประสงค์จะสมัครเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกให้ยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานแนบสำหรับการพิจารณาให้กับเลขาธิการยูเนสโก ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน
อ้างอิง http://www.stcc-geopark.org/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B9/
เนื้อหาข้อมูลมีความน่าสนใจมากก
ตอบลบขอบคุณจ้า
ตอบลบน่าสนใจเนื้อหาสาระนี้มากคะ
ตอบลบ